วันศุกร์ที่ 21 ตุลาคม พ.ศ. 2559

MMM(221) บรมครูแห่งการแพทย์แผนโบราณ (แพทย์แผนไทย)

“หมอชีวกโกมารภัจจ์ บรมครูแห่งการแพทย์แผนโบราณ (แพทย์แผนไทย)”
ในสมัยพุทธกาล ณ เมืองไพศาลีอันมั่งคั่งอุดมสมบูรณ์ มีปราสาทถึง 7,707 หลัง เรือนยอด 7,707 หลัง สวนดอกไม้ 7,707 แห่งและสระโบกขรณี 7,707 สระ  ยิ่งไปกว่านั้นยังเป็นเมืองเดียวที่มีหญิงงามเมืองจนได้ชื่อว่าเป็น “นครโสเภณี” ตำแหน่งนี้ในสมัยนั้นเป็นตำแหน่งมีเกียรติเพราะพระราชาทรงแต่งตั้งโดยคัดสตรีที่มีเรือนร่างสะคราญตาที่สุด ชำนาญฟ้อนรำขับร้องและประโคมดนตรีอย่างดีเยี่ยม 
                พ่อค้าจากเมืองราชคฤห์จำนวนหนึ่งเดินไปค้าขายที่เมืองไพศาลีเห็นว่าเรื่องนี้เป็นอุบายนำรายได้เข้าเมือง  เมื่อกลับบ้านจึงเข้าเฝ้ากราบทูลให้พระเจ้าพิมพิสารทราบ  พระองค์เห็นด้วยจึงทรงคัดเลือกหญิงงามเมืองบ้างจนในที่สุดได้แต่งตั้งสตรีวัยรุ่นนางหนึ่งชื่อ “สาลวดี” ให้ดำรงตำแหน่งนี้
                นางสาวลดีครองตำแหน่งนี้ไม่นานก็ตั้งครรภ์โดยบังเอิญ  นางจึงแสร้งทำเป็นป่วยและงดรับแขกชั่วคราวจนกระทั่งคลอดบุตรเป็นชาย  ตกดึกนางสั่งให้หญิงรับใช้คนสนิทเอาทารกน้อยใส่กระด้งไปทิ้งที่กองขยะนอกเมือง  เดชะบุญกุศลบันดาลให้เจ้าฟ้าอภัยพระราชโอรสของพระเจ้าพิมพิสารเสด็จผ่านมาพอดี  เห็นฝูงแร้งการุมอยู่ที่กองขยะนั้น  เมื่อมีคนเดินมาใกล้ก็ฝูงแร้งกาก็พากันแตกฮือบินหนีไป  พระองค์จึงรับสั่งให้มหาดเล็กไปดูว่าแร้งกามันรุมกินอะไร  มหาดเล็กวิ่งไปดูจึงได้ทราบว่ามีเด็กทารกเพศชายนอนอยู่ในกระด้งบนกองขยะ  จึงตรัสถามว่า “ยังมีชีวิตอยู่ หรือตายแล้ว” มหาดเล็กทูลตอบว่า “ยังมีชีวิตอยู่ พะยะค่ะ”  พระองค์ทรงเกิดความสงสารจึงทรงรับสั่งให้นำเข้าวังรับไว้เป็นโอรสบุญธรรม ทรงขนานนามทารกน้อยว่า “ชีวกโกมารภัจจ์” มาจากคำว่า “ชีวโก (ยังมีชีวิตอยู่)” กับคำว่า “โกมารภัจจ์ (บุตรบุญธรรม)” หรือชื่อเรียกตามภาษาไทยว่า “บุญยัง”
                ชีวกเป็นเด็กฉลาดสามารถเอาชนะลูกหลวงอื่นๆได้หมด  เด็กในวังเจ็บใจที่แพ้จึงชอบล้อว่าเป็นลูกไม่มีพ่อแม่บ้าง เป็นเด็กข้างถนนบ้าง  เพื่อเอาชนะคำดูหมิ่นเขาจึงมุมานะที่จะศึกษาหาความรู้เอาชนะลูกผู้ดีให้ได้  เขาตัดสินใจหนีออกจากวังไปยังเมืองตักกศิลาเพื่อเรียนวิชาแพทย์กับอาจารย์ทิศาปาโมกข์  แต่เนื่องจากไม่มีเงินจึงอาสารับใช้พระอาจารย์แทน การเป็นคนขยันขันแข็ง อ่อนน้อมถ่อมตนและตั้งใจเรียนอาจารย์จึงถ่ายทอดวิชาความรู้ให้ทั้งหมด  เรียนอยู่นาน 7 ปีจนรอบรู้แต่ไม่มีทีท่าว่าจะจบสักทีเริ่มคิดถึงคนทางบ้านจึงเข้าไปเรียนถามอาจารย์ว่าเมื่อไหร่จะถือว่าเรียนจบเสียที  อาจารย์ตอบว่าตั้งใจจะให้เรียนต่ออีกปีสองปีจึงให้กลับแต่ถ้าอยากกลับแล้วจริงๆก็ตามใจ  แต่ขอทดสอบความรู้ก่อนถ้าสอบผ่าจึงจะให้กลับ โดยการสอบคือให้ชีวกสำรวจภายในรัศมี 400 เส้นดูว่าหญ้าชนิดไหน ใบไม้เปลือกไม้ชนิดไหนใช้ทำยาไม่ได้ให้เก็บตัวอย่างมาให้ดู  ชีวกใช้เวลาสำรวจประมาณเจ็ดวันก็กลับมามือเปล่าเพราะต้นไม้ใบหญ้าทุกต้นใช้ทำยาได้หมด  อาจารย์จึงบอกว่าเรียนจบหลักสูตรแพทย์แล้วให้กลับบ้านได้พร้อมมอบเงินจำนวนเล็กน้อยให้ใช้ระหว่างทาง (ที่ให้น้อยเป็นอุบายเพื่อให้ได้ฝึกใช้วิชาความรู้หาเงินเพิ่มเอง)
                เดินทางถึงเมืองสาเกตซึ่งตั้งอยู่กึ่งกลางระหว่างเมืองตักกศิลากับเมืองราชคฤห์  เสบียงและเงินที่ติดตัวมาก็หมดเกลี้ยง  ขณะกำลังคิดหาทางออกอยู่พอดีก็ได้ยินคนพูดกันว่ามีเมียเศรษฐีคนหนึ่งในเมืองป่วยเป็นโรคปวดศีรษะมา 7 ปีหมดเงินรักษาไปมากมายไม่หายเสียทีจนหมดอาลัยตายอยากในชีวิต  ชีวกจึงขันอาสาปรุงยารักษาให้  ปรากฏว่าพอนัตถุ์ยาของหมอชีวกเพียงครั้งเดียวอาการของเมียเศรษฐีก็หายเป็นปลิดทิ้งจึงตบรางวัลให้เขาถึง 4,000 กหาปณะ (ราวหนึ่งหมื่นหกพันบาท)  ชื่อเสียงนำมาซึ่งงานมากมายเมื่อรวบรวมเงินได้เพียงพอแล้วชีวกก็เดินทางกลับเมืองมาตุภูมิทันที  เมื่อถึงเมืองราชคฤห์ก็รีบเข้าเฝ้าเสด็จพ่อเพื่อขอขมาที่หนีไปโดยไม่บอกกล่าว
                เวลานั้นพระเจ้าพิมพิสารทรงประชวรด้วยโรค “ภคันทลาพาธ (ริดสีดวงทวารหนัก)” แพทย์หลวงถวายพระโอสถขนาดใดๆก็ไม่หายขาด  จึงทรงรับสั่งให้หมอชีวกเข้าเฝ้า  หมอหนุ่มถวายโอสถเพียงสองสามครั้งก็ทรงหายขาดจากอาการ  เป็นที่โปรดปรานของพระเจ้าพิมพิสารมากจึงทรงแต่งตั้งให้เขาเป็นแพทย์หลวงพร้อมทั้งพระราชทานสวนมะม่วงให้ด้วย
                ครั้งสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงประทับอยู่ที่พระเวฬุวัน วัดแห่งแรกที่พระเจ้าพิมพิสารสร้างถวาย  พระพุทธองค์เกิดเป็นโรคท้องผูกอย่างแรง  พระอานนทเถระจึงไปขอร้องให้หมอชีวกถวายการรักษาพระพุทธองค์  หมอชีวกรู้สึกปลาบปลื้มใจมากที่จะได้มีโอกาสถวายการรักษาพระพุทธองค์ เขาจึงหาก้านอุบลมาสามก้านแล้วนำมาอบยาไปถวายให้พระพุทธองค์ทรงสูดก้านละครั้ง เมื่อทรงสูดยาที่ได้รับก็ทรงถ่ายพระบังคนหนัก (อุจจาระ) ออกเป็นปกติ  หมอชีวกเลื่อมใสในพระพุทธองค์เป็นอย่างมากจึงกราบทูลถวายตัวเป็นคิลานุปัฏฐากของพระองค์  นอกจากนี้ยังถวายสวนมะม่วงให้เป็นที่ประทับของพระพุทธองค์ด้วย
              ชื่อเสียงของหมอชีวกแพร่สะพัดไปทั่วว่าเป็นหมอเทวดา โด่งดังไปถึงเมืองอุชเชนี แคว้นอวันตีซึ่งอยู่ห่างไกลไปทางทิศตะวันตก พระเจ้าจัณฑปัชโชต กษัตริย์ผู้โหดร้ายประชวรด้วยโรค ปัณฑุโรค (ดีซ่าน)”   จึงทรงส่งพระราชสาส์นไปยังพระเจ้าพิมพิสารขอตัวแพทย์หลวงไปถวายการรักษา หมอชีวกถวายการรักษาจนหายแต่ก็เกือบถูกประหารชีวิตเพราะพระองค์ไม่ชอบเนยใสแต่ยาหมอชีวกจำเป็นต้องใส่เนยใส ถึงกับสั่งคนออกตามล่าหมอชีวก แต่หมอชีวกก็เอาชีวิตรอดกลับมาได้ด้วยปัญญา 
เมื่อพระเจ้าจัณฑปัชโชตหายประชวรแล้วทรงสำนึกในบุญคุณหมอชีวกจึงทรงส่งผ้ากัมพลหรือผ้าแพรเนื้อละเอียดอย่างดีสองผืนไปพระราชทานแก่หมอชีวกถึงกรุงราชคฤห์พร้อมกับมีพระราชสาส์นไปขอบพระทัยพระเจ้าพิมพิสารด้วย หมอชีวกได้นำผ้าสองผืนนั้นไปถวายพระพุทธองค์  สมัยนั้นพระภิกษุห้ามรับผ้าสำเร็จจากคฤหัสถ์จะต้องหาเศษผ้าที่ชาวบ้านทิ้งแล้วมาเย็บจีวรเอง  หมอชีวกวิงวอนจนพระพุทธองค์ทรงรับผ้ารวมถึงอนุญาตให้พระภิกษุสงฆ์รับผ้าสำเร็จที่ชาวบ้านถวายได้ตั้งแต่บัดนั้นมา
เหตุการณ์ระทึกขวัญไม่คาดฝันเกิดขึ้นเมื่อพระพุทธองค์ถูกพระเทวทัตลอบทำร้ายโดยกลิ้งหินบนยอดเขาคิชฌกูฏหมายจะให้ทับพระองค์ ด้วยเดชะพระบารมีก้อนหินนั้นกลิ้งลงปะทะง่อนผาเบื้องบนพระเศียรทำให้กระเด็นไปทางอื่น  อย่างไรก็ตามสะเก็ดหินได้กระเด็นไปโดนพระบาททำให้ห้อพระโลหิต  พระสงฆ์สาวกช่วยกันหามพระพุทธองค์มายังสวนมะม่วงที่ประทับ  ขณะรักษาคนไข้ในเมืองพอหมอชีวกทราบข่าวว่าพระพุทธองค์ถูกลอบทำร้ายได้รับบาดเจ็บก็รีบไปยังสวนมะม่วงทันที ได้ถวายการรักษาโดยชะล้างและพันแผลให้ก่อนจะทูลลาไปดูคนไข้ในเมืองต่อ
                ตลอดชีวิตของหมอชีวกโกมารภัจจ์ได้บำเพ็ญแต่คุณงามความดี ช่วยเหลือผู้ป่วยโดยไม่เลือกฐานะจนได้รับยกย่องจากพระพุทธองค์ว่าเป็นเอตทัคคะในด้าน "เป็นที่รักของปวงชน"

เอกสารอ้างอิง
                เสฐียรพงษ์ วรรณปก. ชีวิตตัวอย่าง หมอชีวกโกมารภัจจ์  

                พระมหาสุนทร สุนฺทรธฺมโม. ชาดกและประวัติพุทธสาวก-พุทธสาวิกา 

วันอาทิตย์ที่ 31 มกราคม พ.ศ. 2559

MMM(220) ครูใหญ่แห่งงานสาธารณสุขมูลฐานและบิดาแห่ง อสม.

“ครูใหญ่แห่งงานสาธารณสุขมูลฐานและบิดาแห่ง อสม.”

ดร.นพ.อมร นนทสุต (Amorn Nondasuta)


                เกิดวันที่ 20 มกราคม ค.ศ. 1928 ที่ตำบลรองเมือง อำเภอปทุมวัน จังหวัดพระนคร (กรุงเทพมหานครในปัจจุบัน)
เป็นบุตรคนสุดท้องของนาวาเอกพระแสงสิทธิการ (แสง นนทสุต) รน. กับนางประชิต นนทสุต (นามสกุลเดิมปายะนันท์)
ค.ศ. 1944 จบมัธยมศึกษาจากโรงเรียนอัสสัมชัญบางรัก
                ค.ศ. 1952 จบปริญญาตรีแพทยศาสตร์บัณฑิตศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ รุ่นที่ 57
                1 มิถุนายน ค.ศ. 1953 รับราชการในกรมอนามัยเป็นนายแพทย์ตรีกองอนามัยโรงเรียน  หนึ่งเดือนต่อมาก็ไปเป็นอนามัยจังหวัดแพร่ (นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดในปัจจุบัน) ได้สร้างต้นแบบโครงการควบคุมโรคขาดสารไอโอดีนในจังหวัดแพร่และเชียงใหม่โดยใช้เกลืออนามัยจนสถิติผู้ป่วยลดลงอย่างชัดเจนและค่อย ๆ หมดลงไปในที่สุดในหลาย ๆ พื้นที่
                6 มีนาคม ค.ศ. 1955 สมรสกับแพทย์หญิงอนงค์ บุญยังพงศ์ ทั้งสองมีบุตรบุญธรรม 1 คนคือนายประจักรา นนทสุต
                ค.ศ. 1961 จบปริญญาโทสาธารณสุข มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ประเทศสหรัฐอเมริกา
                1 ตุลาคม ค.ศ. 1963 กลับมารับตำแหน่งอนามัยจังหวัดเชียงใหม่
                3 พฤศจิกายน ค.ศ. 1966 ได้รับตำแหน่งผู้อำนวยการกองโภชนาการ
                ค.ศ. 1968 อาจารย์สมบูรณ์ วัชโรทัยและอาจารย์กำธร สุวรรณกิจ ทำโครงการส่งเสริมบริการอนามัยชนบทอยู่ที่อำเภอวัดโบสถ์ จังหวัดพิษณุโลกโดยจ้างคนหนุ่มสาวในหมู่บ้านมาช่วยกันทำเรื่องสุขภาพในชุมชน อาจารย์ทั้งสองมีความคิดจะขยายงานไปยังจุดต่าง ๆ ของประเทศจึงมาชวนให้นพ.อมรทำ
                ท่านเริ่มโครงการนี้ที่อำเภอสารภี จังหวัดเชียงใหม่แต่วิธีการต่างกันคือไม่ใช้การจ้างคนหนุ่มสาวมาทำ   ท่านนำเทคนิค social metric ที่ได้จากฮาร์วาร์ดมาใช้โดยเข้าไปคุยกับชาวบ้านแล้วสอบถามว่าเวลาเจ็บป่วยมักจะไปปรึกษาใคร  เมื่อทำแผนภาพออกมาจะพบว่าเป็นผู้อาวุโสหรือผู้ที่ได้รับการนับถือจากชาวบ้านกระจายไปโดยเฉลี่ยแล้วทุก ๆ 15 หลังคาเรือนจะมีหนึ่งคน  ท่านจะให้ความรู้แก่บุคคลเหล่านี้เพื่อนำไปกระจายต่อในชุมชนเรียกว่าเป็น “ผู้สื่อข่าวสาธารณสุข (ผสส.)” เมื่อทำไปสักระยะเห็นว่าชาวบ้านมีความสามารถในการรักษาพยาบาลได้ด้วยจึงสอนวิชาการรักษาเบื้องต้นเพิ่มเติมให้และยกฐานะเป็น “อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.)”  ที่ไม่ใช้เงินจ้างแต่ให้เป็นอาสาสมัครแทนเพราะอยากให้ภูมิใจในสิ่งทำโครงการจะได้ยั่งยืน
                21 ตุลาคม ค.ศ. 1970 ได้รับตำแหน่งนายแพทย์ใหญ่กรมอนามัย
1 ตุลาคม ค.ศ. 1973 เป็นรองอธิบดีส่งเสริมสาธารณสุข (กรมอนามัย)
1 ตุลาคม ค.ศ. 1974 เป็นรองปลัดกระทรวงสาธารณสุข
                ค.ศ. 1977 หลังได้รับตำแหน่งรองปลัดกระทรวงสาธารณสุขได้มีส่วนร่วมในการร่างแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมฉบับที่ 4 (ค.ศ. 1977-1981) จึงนำเรื่อง ผสส. อสม. บรรจุเข้าไปด้วยรวมถึงงานสาธารณสุขมูลฐานด้วย ปีต่อมา ค.ศ. 1978 แพทย์ชาวเดนมาร์ก Halfdan T. Mahler (เกิด 21 เมษายน ค.ศ. 1923) ผู้อำนวยการใหญ่องค์การอนามัยโลก (ดำรงตำแหน่งระหว่างปี ค.ศ. 1973-1988) ประกาศนโยบาย “สุขภาพดีถ้วนหน้า (Health for all)” พอดีซึ่งใช้หลักของสาธารณสุขมูลฐานให้ชาวบ้านเข้ามามีส่วนร่วมในการดูแลสุขภาพของตัวเอง  ประเทศไทยก็เริ่มงานสาธารณสุขมูลฐานอย่างจริงจังนับแต่นั้นมา แต่การผลักดันเรื่องสุขภาพดีถ้วนหน้าพบว่ามีอุปสรรคเนื่องจากชาวบ้านไม่สนใจเรื่องสุขภาพเท่าไหร่ จึงเปลี่ยนนโยบายเป็น “คุณภาพชีวิตดีถ้วนหน้า (Quality of life for all)” แทนแล้วแทรกเรื่องสุขภาพลงไปโครงการจึงเป็นผลสำเร็จ
                1 ตุลาคม ค.ศ. 1980 เป็นอธิบดีกรมอนามัย ท่านเป็นผู้นำสาธารณสุขมูลฐานเข้ามาใส่ในงานของกองโภชนาการ
                1 ตุลาคม ค.ศ. 1983 ดำรงตำแหน่งปลัดกระทรวงสาธารณสุข ท่านสนับสนุนการสร้างโรงพยาบาลชุมชนทุกอำเภอและสร้างสถานีอนามัยตำบลทุกตำบล  นอกจากนี้ยังผลักดันเป้าหมายความจำเป็นพื้นฐาน (จปฐ.) เป็นเครื่องชี้วัดสถานภาพและความสำเร็จของการพัฒนาในแผนการส่งเสริมสุขภาพ
                ค.ศ. 1986 ได้รับปริญญาสาธารณสุขศาสตร์ดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ มหาวิทยาลัยมหิดล
                1 มกราคม ค.ศ. 1987 ลาออกจากราชการด้วยเหตุรับราชการนาน
                แนวคิดที่ท่านยึดถือในการทำงานเสมอคือ ต้องเชื่อว่าชาวบ้านเขาทำได้ อันนี้สำคัญมาก อย่าดูถูกเขาเป็นอันขาด อย่าไปนึกว่าเราใหญ่กว่าเขา เรามีความรู้เยอะแยะอะไรแบบนี้จะไปไม่รอด ถ้าทำงานกับสังคมอย่าไปถือว่าตัวเองเหนือกว่า ชาวบ้านเขาก็เป็นครูเราได้" ปัจจุบันอาจารย์ยังทำงานต่อเนื่องในแวดวงสาธารณสุขโดยทำหน้าที่เป็นประธานคณะกรรมการสนับสนุนและพัฒนาระบบหลักประกันสุขภาพระดับท้องถิ่น  ผลงานสำคัญชิ้นสุดท้ายที่อยากฝากไว้คือการผลักดันการจัดทำแผนที่ยุทธศาสตร์ในงานสาธารณสุขนั่นเอง

คำประกาศเกียรติคุณและรางวัลที่ได้รับ 
ค.ศ. 1982 รางวัล “สมเด็จพระวัณรัตปุณณสิริจากแพทยสมาคมแห่งประเทศไทย 
ค.ศ. 1986 รางวัล Sasakawa Health Prize ขององค์การอนามัยโลก จากผลงานสาธารณสุขมูลฐาน (เป็นคนไทยเพียงคนเดียวที่ได้รับรางวัลอันทรงเกียรตินี้)  และได้รับโล่ประกาศเกียรติคุณข้าราชการดีเด่น จากสมาคมข้าราชการพลเรือนแห่งประเทศไทย 
ค.ศ. 1992 รางวัลเหรียญทอง Ceres ขององค์การอาหารและเกษตร จากผลงานควบคุมโรคคอพอก   และได้รับโล่บุคคลดีเด่นด้านสาธารณสุข จากกระทรวงสาธารณสุขเนื่องในโอกาสวันสถาปนากระทรวงสาธารณสุข 50 ปี
ค.ศ. 2005 รางวัลนักสุขศึกษาดีเด่นกิตติมศักดิ์
ค.ศ. 2012 รางวัลนักบริหารโรงพยาบาล  
กระทรวงสาธารณสุขสมัยที่ดร.นพ.อมร นนทสุต ดํารงตําแหน่งปลัดกระทรวงได้มีนวัตกรรมงานสาธารณสุขเกิดขึ้นมากมายจนได้ชื่อว่าเป็น ยุคทองของวงการสาธารณสุขไทย

เอกสารอ้างอิง
พงศธร พอกเพิ่มดี. หลังประติมาสาธารณสุข 20 เบื้องหลังการขับเคลื่อนระบบสุขภาพไทย. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพมหานคร: อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง จำกัด (มหาชน); 2553. หน้า 61-70.
วารสารสมาคมเวชศาสตร์ป้องกันแห่งประเทศไทย 2555; 2(3): 213-4.
สันติสุข โสภณสิริ. 80 ปี นายแพทย์อมร นนทสุต เพชรจรัสแสงแห่งวงการสาธารณสุขไทย. พิมพ์ครั้งที่ 1. กรุงเทพมหานคร: โรงพิมพ์องค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก; 2552.

                

วันเสาร์ที่ 30 มกราคม พ.ศ. 2559

MMM(219) K-ration

Ancel Benjamin Keys (1904-2004)

เกิดวันที่ 26 มกราคม ค.ศ. 1904 ที่เมือง Colorado Springs รัฐโคโลราโด ประเทศสหรัฐอเมริกา
เป็นบุตรชายของ Benjamin Pious Keys (1883-1961) และ Carolyn Emma Chaney (1885-1960)
ค.ศ. 1906 ครอบครัวย้ายไปยังเมืองซานฟานซิสโก รัฐแคลิฟอร์เนีย  หลังเกิดแผ่นดินไหวในปีนั้นเองก็ย้ายไปอยู่เมืองเบิร์กลีย์
ด้วยความที่เป็นเด็กฉลาดเขาจึงได้รับเลือกเป็น 1 ใน 1,528 เด็กอัจฉริยะของงานวิจัย “Terman Study of the Gifted” โดยนักจิตวิทยาชาวอเมริกัน Lewis Madison Terman (1877-1956)
ค.ศ. 1922 เข้าเรียนปริญญาตรีด้านเคมีที่มหาวิทยาลัยแห่งแคลิฟอร์เนียในเบิร์กลีย์แต่ไม่ชอบจึงเปลี่ยนไปเรียนเศรษฐศาสตร์และวิทยาศาสตร์การเมืองจนจบในปี ค.ศ. 1925 จากนั้นเรียนต่อปริญญาโทด้านสัตววิทยาที่เบิร์กลีย์จนจบในปี ค.ศ. 1928  เขาทำงานที่บริษัท F. W. Woolworth ไม่นานก็เรียนต่อปริญญาเอกด้านสมุทรศาสตร์และชีววิทยาที่สถาบัน Scripps ใน La Jolla แคลิฟอร์เนียจนจบในปี ค.ศ. 1930
เขาได้รับทุนจากสภาวิจัยแห่งชาติให้ไปศึกษาต่อภายใต้นักสรีรวิทยาชาวเดนมาร์ก Schack August Steenberg Krogh (1874-1949) ที่กรุงโคเปนเฮเกน ประเทศเดนมาร์กเป็นเวลาสองปี  จากนั้นก็ไปยังประเทศอังกฤษเรียนจบปริญญาเอกใบที่สองด้านสรีรวิทยาที่ King’s College เคมบริดจ์ในปี ค.ศ. 1936
ค.ศ. 1936 เขากลับมารับตำแหน่งที่มูลนิธิ Mayo ในเมืองรอเชสเตอร์ รัฐนิวยอร์ก ที่นี่เองเขาจ้าง Margaret Haney (1909-2006) มาเป็นนักเทคโนโลยีการแพทย์  ค.ศ. 1937 เขาย้ายไปรับตำแหน่งที่มหาวิทยาลัยแห่งมินิโซตาโดยก่อตั้งห้องปฏิบัติการสุขอนามัยสรีรวิทยาขึ้นมาใหม่
ค.ศ. 1939 เขาแต่งงานกับ Haney ทั้งสองมีบุตรด้วยกัน 3 คน เป็นบุตรชาย 1 คนคือ Henry Keys และบุตรสาว 2 คนคือ Carrie D’Andrea กับ Martha McLain
เมื่อสหรัฐอเมริกาเข้าสู่สงครามโลกครั้งที่สองทางรัฐบาลมอบหมายให้เขาออกแบบอาหารสำหรับทหารให้มีน้ำหนักเบาพกพาง่ายแต่คงคุณค่าทางโภชนาการและเก็บได้นานถึงสองสัปดาห์  เป็นที่มาของอาหาร K-ration นั่นเอง โดย K หมายถึง Keys ไม่ใช่วิตามินเค
ค.ศ. 1944-1945 เขาและเพื่อนร่วมงานทำการวิจัยเกี่ยวกับผลด้านสรีรวิทยาและจิตวิทยาต่อภาวะถูกจำกัดด้านอาหารเรียกว่า “Minnesota Starvation Experiment” นำไปสู่การตีพิมพ์ตำราขนาดสองเล่มหนา 1,385 หน้าที่ชื่อ “The Biology of Human Starvation” ในปี ค.ศ. 1950
เขาเสนอสมมติฐานว่าไขมันแต่ละชนิดมีผลต่อสุขภาพแตกต่างกัน  ค.ศ. 1947 เขาทำวิจัยในนักธุรกิจ 283 คนจากเมืองมินนีแอโพลิสและเซนต์พอล รัฐมินิโซตาเป็นเวลาสิบปีและสรุปว่าไขมันอิ่มตัวเป็นปัจจัยเสี่ยงหนึ่งของโรคหลอดเลือดหัวใจ  เขาร่วมกับภรรยาตีพิมพ์หนังสือ “Eat Well & Stay Well” ในปี ค.ศ. 1959
หนังสือขายดีจนสร้างความตื่นตัวในการบริโภคอาหารไขมันต่ำ  เป็นเหตุให้ได้ลงหน้าปกนิตยสาร Time ฉบับวันที่ 13 มกราคม ค.ศ. 1961
เขาได้รับตำแหน่งประธานคณะกรรมาธิการด้านอาหารและการเกษตรขององค์การอนามัยโลกคนแรกและเป็น Fullbright fellow ที่อ๊อกซฟอร์ด  ทศวรรษ 1950 เขาถูกท้าทายจากเพื่อนร่วมงานชาวอิตาลีว่าโรคหัวใจไม่ใช่ปัญหาในอิตาลีจึงนำไปสู่การศึกษาที่เรียกว่า Seven Countries Study เพื่อเปรียบเทียบอัตราการตายกับอาหารของประเทศอุตสาหกรรม 7 ประเทศ  การศึกษาเริ่มในปี ค.ศ. 1958 กับชายวัยกลางคน 12,000 คนในอิตาลี หมู่เกาะกรีก ยูโกสลาเวีย เนเธอร์แลนด์ ฟินแลนด์ ญี่ปุ่นและสหรรัฐอเมริกา  ผลการวิจัยตีพิมพ์ในปี ค.ศ. 1970 พบว่าประเทศในแถบเมดิเตอร์เรเนียนซึ่งกินน้ำมันมะกอกซึ่งเป็นน้ำมันไม่อิ่มตัวอัตราการเสียชีวิตจากโรคหลอดเลือดหัวใจน้อยกว่าประเทศฟินแลนด์ที่กินน้ำมันจากสัตว์ซึ่งเป็นน้ำมันอิ่มตัว 
ค.ศ. 1972 เขาเกษียณจากมหาวิทยาลัยแห่งมินิโซตา
ค.ศ. 1975 เขาร่วมกับภรรยาตีพิมพ์หนังสือ “Eat Well & Stay Well the Mediterranean Way” ซึ่งกลายเป็นหนังสือขายดีอีกเช่นกัน
ค.ศ. 1991 บุตรสาวของเขา Martha McLain เสียชีวิตไปก่อน  ส่วนตัวเขาเองเสียชีวิตในวันที่ 20 พฤศจิกายน ค.ศ. 2004 ด้วยวัย 100 ปี มีคนถามเขาว่าที่อายุยืนนานและสุขภาพแข็งแรงนั้นเกี่ยวกับอาหารที่เขากินใช่หรือไม่? เขาตอบว่า “Very likely, but no proof.



วันเสาร์ที่ 31 มกราคม พ.ศ. 2558

MMM(218) Cori cycle


Carl Ferdinand Cori (1896-1984)

 

เกิดวันที่ 5 ธันวาคม ค.ศ. 1896 ที่กรุงปราก สาธารณรัฐเชก

เป็นบุตรชายของนายแพทย์ Carl Isidor Cori (?-1954) กับ Martha Lippich

เนื่องจากบิดาดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสถานีชีววิทยาทางทะเลที่เมือง Trieste ทางตอนเหนือของประเทศอิตาลี เขาจึงเติบโตและเรียน gymnasium ที่นั่น

ปลาย ค.ศ. 1914 ครอบครัวย้ายกลับมากรุงปราก  เขาเข้าเรียนแพทย์ที่มหาวิทยาลัยชาร์ลส์ในกรุงปรากทำให้ได้พบกับ Gerty Theresa Radnitz (1896-1957)  ช่วงสงครามเขาถูกเกณฑ์เข้าร่วมกองทัพ  สิ้นสุดสงครามจึงกลับมาเรียนต่อและจบแพทย์ในปี ค.ศ. 1920 ปีนี้เองก็แต่งงานกับ Gerty โดยมีบุตรชายด้วยกันสองคน ทั้งสองทำงานที่คลินิกในกรุงเวียนนา ประเทศออสเตรีย

ค.ศ. 1921 เขาได้รับเชิญไปยังเมือง Graz ประเทศออสเตรียเพื่อทำงานร่วมกับแพทย์ชาวเยอรมัน Otto Loewi (1873-1961) ศึกษาเรื่องผลของเส้นประสาท vagus ต่อหัวใจ (Loewi ได้รับรางวัลโนเบลสาขาการแพทย์ในปี ค.ศ. 1936 จากผลงานนี้)

หนึ่งปีต่อมาเขาได้รับตำแหน่งที่ State Institute for the Study of Malignant Diseases (ปัจจุบันคือสถาบันมะเร็ง Roswell Park) ในบัฟฟาโล รัฐนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา  เขาและภรรยาจึงย้ายไปอยู่บัฟฟาโล  ทั้งสองได้สัญชาติอเมริกันในปี ค.ศ. 1928  ทั้งสองร่วมกันทำวิจัยเรื่องเมตะบอลิซึมของคาร์โบไฮเดรตจนกระทั่งค้นพบ Cori cycle ในปี ค.ศ. 1929

ค.ศ. 1931 เขาย้ายไปรับตำแหน่งศาสตราจารย์ด้านเภสัชวิทยาที่โรงเรียนแพทย์มหาวิทยาลัยวอชิงตันในเมืองเซนต์หลุยส์  รัฐมิสซูรี  และได้รับตำแหน่งศาสตราจารย์ด้านชีวเคมีในปี ค.ศ. 1942 ที่นี่พวกเขาวิจัยเรื่องไกลโคเจนและกลูโคสโดยเริ่มบรรยายถึงกระบวนการ glycogenolysis จนค้นพบพร้อมกับสังเคราะห์เอนไซม์ glycogen phosphorylase ได้  ผลงานมากมายทำให้ทั้งสองได้รับรางวัลโนเบลสาขาการแพทย์ประจำปี ค.ศ. 1947 ร่วมกัน

Gerty เสียชีวิตในปี ค.ศ. 1957 ต่อมา Carl แต่งงานใหม่กับ Anne Fitz-Gerald Jones ในปี ค.ศ. 1960  เขายังคงทำงานที่มหาวิทยาลัยวอชิงตันจนกระทั่งเกษียณปี ค.ศ. 1966 ในตำแหน่งหัวหน้าภาควิชาชีวเคมี

เขาเสียชีวิตที่เมืองเคมบริดจ์ รัฐแมสซาชูเซตส์ ประเทศสหรัฐอเมริกาในวันที่ 20 ตุลาคม ค.ศ. 1984  มหาวิทยาลัยวอชิงตันจัดตั้งตำแหน่ง Carl Cori Endowed Professorship เพื่อเป็นเกียรติแก่เขา

วันอาทิตย์ที่ 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2557

MMM(217) "The Agnew Clinic"


David Hayes Agnew (1818-1892)

 

เกิดวันที่ 24 พฤศจิกายน ค.ศ. 1818 ที่ Nobleville (ปัจจุบันคือ Christiana) ใน Lancaster County รัฐเพนซิลเวเนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา

เป็นบุตรคนเดียวของนายแพทย์ Robert Agnew กับ Agnes Noble

ค.ศ. 1833 เข้าเรียนที่วิทยาลัยเจฟเฟอร์สัน  ก่อนที่ปีต่อมาจะย้ายไปเรียนศิลปศาสตร์ที่วิทยาลัย Newark ในเดลาแวร์ซึ่งญาติคือบาทหลวง John Holmes เป็นศาสตราจารย์ด้านภาษาอยู่  แต่ปีต่อมาบาทหลวง Holmes ย้ายออก Agnew จึงกลับไปเรียนแพทย์กับบิดา

ค.ศ. 1836 เขาเข้าเรียนแพทย์ที่โรงเรียนแพทย์มหาวิทยาลัยแห่งเพนซิลเวเนียและจบการศึกษาในปี ค.ศ. 1838 ด้วยวิทยานิพนธ์ "Medical Science and the Responsibility of Medical Character."  หลังจบการศึกษาก็กลับไปทำเวชปฏิบัติที่ Lancaster County กับบิดา 

ค.ศ. 1841 แต่งงานกับ Margaret Creighton Irwin บุตรสาวของ Samuel Irwin เจ้าของโรงหล่อเหล็กขนาดใหญ่  เมื่อ Samuel Irwin เสียชีวิตในปี ค.ศ. 1842 เป็นเหตุให้ Agnew ต้องทิ้งงานด้านการแพทย์และมาช่วยทำกิจการของครอบครัว  เพียงแค่สามปีเท่านั้นกิจการก็ล้มเหลวทำให้เขามีอิสระที่จะกลับมาทำเวชปฏิบัติอีกครั้ง

เขาทำเวชปฏิบัติที่ Cochranville ใน Chester County เป็นเวลาสั้น ๆ ก่อนจะกลับมาที่ฟิลาเดลเฟียในปี ค.ศ. 1848 และเป็นผู้บรรยายที่โรงเรียนกายวิภาคศาสตร์ฟิลาเดลเฟีย

ด้วยความมุ่งมั่นที่จะเป็นศัลยแพทย์จึงฝึกฝนด้านกายวิภาศาสตร์จนช่ำชอง  ค.ศ. 1852 เขาซื้อโรงเรียนกายวิภาคศาสตร์ฟิลาเดลเฟียมาปรับปรุง  ค.ศ. 1854 เขาก่อตั้งโรงเรียนการผ่าตัดทางศัลยศาสตร์ฟิลาเดลเฟียและบริหารงานจนโรงเรียนทั้งสองมีชื่อเสียง

ค.ศ. 1854 ได้รับตำแหน่งศัลยแพทย์ที่โรงพยาบาล Blockley ในฟิลาเดลเฟีย

ค.ศ. 1858 เป็นผู้บรรยายสำหรับ Henry Hollingsworth Smith (1815-1890) ศาสตราจารย์ด้านศัลยศาสตร์ที่โรงเรียนแพทย์มหาวิทยาลัยแห่งเพนซิลเวเนีย

ค.ศ. 1863 ได้รับตำแหน่งผู้สาธิตด้านกายวิภาคศาสตร์ที่โรงเรียนแพทย์มหาวิทยาลัยแห่งเพนซิลเวเนีย

ค.ศ. 1871 ศาสตราจารย์ Smith เกษียณ  Agnew จึงได้รับตำแหน่งศาสตราจารย์ด้านศัลยศาสตร์ต่อ

ค.ศ. 1875 จิตกรชาวอเมริกัน Thomas Cowperthwait Eakins (1844-1916) วาดภาพสีน้ำมันบนผ้าใบชื่อ “The Gross Clinic” ให้กับ Samuel David Gross (8 ก.ค. 1805 – 6 พ.ค. 1884) ศัลยแพทย์ชาวอเมริกันที่วิทยาลัยแพทย์โทมัสเจฟเฟอร์สัน



ภาพ “The Gross Clinic”

 

ค.ศ. 1878-1883 Agnew ประพันธ์ตำรา “The Principles and Practice of Surgery”

ค.ศ. 1878 ได้รับเกียรติให้ดำรงตำแหน่ง John Rhea Barton Professor of Surgery เป็นคนแรก

นอกจากมหาวิทยาลัยแล้วเขายังทำงานที่อื่นด้วยได้แก่ โรงพยาบาลฟิลาเดลเฟีย, โรงพยาบาลจักษุ Wills รวมถึงโรงพยาบาลออร์โธปิดิคส์ด้วย  ช่วงสงครามกลางเมืองเขาทำงานเป็นศัลยแพทย์ที่โรงพยาบาลHestonville และโรงพยาบาล Mower สร้างชื่อเสียงไว้มาก  เมื่อประธานาธิบดี James Abram Garfield (1831-1881) ถูกยิงในปี ค.ศ. 1881 Agnew จึงถูกเรียกไปยังวอชิงตันเพื่อเป็นหัวหน้าศัลยแพทย์ที่ปรึกษา

ค.ศ. 1889 เขาลาออกจากตำแหน่งด้วยวัย 70 ปี  นักเรียนแพทย์สามรุ่นได้รวบรวมเงินกันจำนวน 750 เหรียญสหรัฐว่าจ้าง Eakins ให้มาวาดภาพอาจารย์ของพวกเขาเพื่อเป็นที่ระลึก   

 

                                                                                      


ภาพ “The Agnew Clinic”

 

ด้วยความชื่นชมในตัว Agnew จิตรกรมุ่งมั่นที่จะให้เป็นผลงานชิ้นใหญ่สุดจึงแจ้งกับนักเรียนแพทย์ว่าจะไม่คิดค่าจ้างเพิ่มแต่นักเรียนแพทย์ต้องสละเวลามาเป็นนายแบบให้กับภาพด้วย  เขาใช้เวลาวาดภาพสีน้ำมันบนผ้าใบขนาดใหญ่ที่สุดในชีวิตนานสามเดือนจนเสร็จสมบูรณ์ในวันที่ 1 พฤษภาคม  ภาพนี้ชื่อ “The Agnew Clinic” เป็นการผ่าตัดผู้ป่วยมะเร็งเต้านมข้างซ้ายโดย Agnew ยืนถือมีดผ่าตัดในมือซ้ายบรรยายให้นักเรียนแพทย์ฟัง  หากสังเกตจะเห็นพัฒนาการของการผ่าตัดได้ชัดเจนโดยภาพ “The Gross Clinic” นั้นศัลยแพทย์ใส่ชุดปกติแต่ภาพนี้ศัลยแพทย์เริ่มใส่กาวน์สะอาดสีขาวเนื่องจากตอนนั้นเทคนิคการผ่าตัดปลอดเชื้อของ Joseph Lister (1827–1912) ศัลยแพทย์ชาวอังกฤษเป็นที่ยอมรับแพร่หลายแล้ว  ส่วนการให้ยาสลบของวิสัญญีแพทย์พัฒนาจากการใช้ผ้าคลุมหน้าเป็นใช้หน้ากากครอบแทน  อย่างไรก็ตามการสวมถุงมือและผ้าคาดจมูกยังไม่เกิดในยุคนี้ 

 
                                                                       


1.             Professor David Hayes Agnew, M.D. 1838
John Rhea Barton Professor of Surgery 1878-1889

2.             Dr. J. William White (1850-1916), M.D. 1871
John Rhea Barton Professor of Surgery 1900-1912

3.             Dr. Joseph Leidy (1823-1891), M.D. 1887
Assistant Demonstrator of Pathology, Histology and Morbid Anatomy

4.             Dr. Ellwood R. Kirby, M.D. 1871
Resident Physician

5.             Dr. Frederick H. Milliken, M.D. 1879
Assistant Surgeon in the Orthopedic Dispensary

6.             Thomas Eakins (1844-1916)
The artist

7.             Miss Mary U. Clymer
Nurse

8.             Joseph Allison Scott (1865-1909), M.D.1889

9.             Charles N. Davis (1862-?), M.D. 1889

10.      John Thomas Carpenter, Jr. (1866-?), M.D. 1889

11.      John Bacon (1865-1915), M.D. 1889

12.      Benjamin Brooke (1866-1900), M.D. 1889

13.      Jedediah Howe Adams (1866-1919), M.D. 1889

14.      William Campbell Posey (1866-1934), M.D. 1889

15.      Harry Toulmin (1865-?), M.D. 1889

16.      Charles C. Fowler, M.D. 1889

17.      John Stewart Kulp (1866-1910), M.D. 1889

18.      Alfred Stengel (1868-1939), M.D. 1889

19.      Clarence Arthur Butler (1865-?), M.D. 1889

20.      Joseph Price Tunis (1866-?), M.D. 1889

21.      Frank Royer Keefer (1865-?), M.D. 1889

22.      Nathan M. Baker (1859-1928), M.D. 1889

23.      George S. Woodward, M.D. 1891

24.      John W. Thomas, M.D., fourth year medical matriculant in 1889

25.      Arthur Horton Cleveland (1865-?), M.D. 1889

26.      Herbert Bancroft Carpenter (1866-?), M.D. 1889

27.      George Daniel Cross (1852-1903), M.D. 1889

28.      William Henry Furness III (1866-1920), M.D. 1891

29.      Walter R. Lincoln, M.D. 1890

30.      Howard S. Anders, M.D. 1890

31.      Oscar M. Richards, M.D. 1890

32.      Minford Levis, Medical Class of 1890

 

ในภาพวาดมีภาพของ Eakins ด้วยอยู่ในท่าเงี่ยหูฟังการกระซิบจากนายแพทย์ Frederick H. Milliken โดยภาพตัว Eakins วาดโดย Susan Hannah Macdowell Eakins (1851–1938) ภรรยาของเขานั่นเองซึ่งเป็นจิตรกรด้วยเช่นกัน

Agnew เสียชีวิตที่ฟิลาเดลเฟียเมื่อวันที่ 22 มีนาคม ค.ศ. 1892 โดยศพได้รับการฝังที่สุสาน West Laurel Hill

เดิมภาพ “The Agnew Clinic” แขวนอยู่ที่ทางเดิน Hamilton ตึก John Morgan มหาวิทยาลัยแห่งเพนซิลเวเนีย  แต่เกิดเหตุไอน้ำรั่วที่ตึกนี้ในปี ค.ศ. 2000 ส่งผลให้ภาพวาดเสียหายจนต้องนำออกมาซ่อมแซม  ปัจจุบันภาพถูกเก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑ์ศิลปะฟิลาเดลเฟีย

 

เอกสารอ้างอิง

                Schatzi SC. Medicine in American Art – The Agnew Clinic. Am J Roentgenol 1993;160:936.

                http://www.archives.upenn.edu/histy/features/1800s/1889med/agnewclinic.html

http://www.archives.upenn.edu/people/1800s/agnew_d_hayes.html

วันจันทร์ที่ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2557

MMM(216) Father of forensic medicine in Thailand


ศาสตราจารย์นายแพทย์สงกรานต์ นิยมเสน (พ.ศ. 2455-2513)

 

                เกิดในปี พ.ศ. 2455

                พ.ศ. 2477 จบแพทยศาสตร์บัณฑิตจากคณะแพทยศาสตร์และศิริราชพยาบาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (ปัจจุบันคือคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล)

                หลังจบการศึกษาไปเป็นแพทย์ประจำบ้านแผนกสูติศาสตร์และนรีเวชวิทยาอยู่หนึ่งปีก่อนจะลาออกไปสมัครเข้ารับราชการในกรมตำรวจ (แผนกแพทย์กองกลาง) ได้รับพระราชทานยศร้อยตำรวจเอก

                พ.ศ. 2481 ได้รับทุนจากมูลนิธิอะเล็กซานเดอร์ ฟอน ฮุมโบลดท์ (Alexander von Humboldt) ไปศึกษาต่อที่สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีจนจบปริญญาแพทยศาสตร์ดุษฎีบัณฑิต (Dr. med.) จากมหาวิทยาลัยฮัมบูร์กในปี พ.ศ. 2483  จากนั้นได้ฝึกอบรมและดูงานด้านนิติเวชศาสตร์ (Forensic medicine) ที่มหาวิทยาลัยเบอร์ลินอีกระยะหนึ่งก่อนเดินทางกลับประเทศไทย

คำว่า Forensic medicine มาจากภาษาละติน “forensis” ที่แปลว่า “ที่ตกลงข้อพิพาททางกฎหมาย” กับคำว่า “medicine” ที่แปลว่า “การแพทย์” มีสอนนักเรียนแพทย์ชั้นปีที่ 4 หลักสูตรแพทย์ประกาศนียบัตรของโรงเรียนราชแพทยาลัย (ปัจจุบันคือคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล) เป็นครั้งแรกในปี พ.ศ. 2456  เข้าใจว่าพระยาดำรงแพทยาคุณ [ชื่น พุทธิแพทย์ (พ.ศ. 2424-2496)] เป็นอาจารย์สอนท่านแรกและเป็นผู้บัญญัติศัพท์เรียกวิชานี้ว่า “นิติเวชวิทยา”  แต่จากความช่วยเหลือของมูลนิธิร็อกเกอะเฟลเลอร์ (Rockefeller foundation) ในการปรับปรุงหลักสูตรการศึกษาแพทย์ให้ได้มาตรฐานชั้นปริญญาในปี พ.ศ. 2464 วิชานี้ไม่ปรากฎอยู่ในหลักสูตร (แต่มีหลักฐานว่าพระยาดำรงแพทยาคุณยังคงสอนวิชานี้จนถึงปี พ.ศ. 2470)

                เมื่อนายแพทย์สงกรานต์กลับเมืองไทยได้เข้ารับราชการเป็นอาจารย์โทในแผนกวิชาพยาธิวิทยา คณะแพทยศาสตร์และศิริราชพยาบาลในปี พ.ศ. 2484 โดยได้รับมอบหมายให้สอนในสาขาวิชาปาราสิตวิทยา  ขณะเดียวกันอาจารย์ได้พยายามชักจูงให้คณะฯเห็นความสำคัญของวิชานิติเวชวิทยาจนในที่สุดปี พ.ศ. 2487 ก็ได้รับอนุญาตให้สอนวิชานี้แก่นักเรียนแพทย์ชั้นปีที่ 4 สัปดาห์ละ 1 ชั่วโมง ในภาคเรียนที่ 3 (แต่เป็นการเรียนนอกหลักสูตรจึงไม่มีการสอบ) นับได้ว่าเป็นแพทย์ปริญญารุ่นแรกที่ได้เรียนนิติเวชวิทยา 

                ในรัฐบาลสมัยจอมพลแปลก พิบูลสงคราม (พ.ศ. 2440-2507) ได้ก่อตั้ง “มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์” ขึ้นเมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2486 และโอนคณะแพทยศาสตร์และศิริราชพยาบาลจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมาเป็นคณะหนึ่งในสังกัดมหาวิทยาลัยแห่งนี้

                มิถุนายน พ.ศ. 2489 เกิดเหตุการณ์สำคัญทางประวัติศาสตร์ของไทยคือกรณีสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล  เมื่อมีการตั้งกรรมการแพทย์ชันสูตรพระบรมศพ  อาจารย์สงกรานต์เป็นหนึ่งในผู้ที่ได้รับการแต่งตั้งเป็นกรรมการรวมถึงนายแพทย์สุด แสงวิเชียร หัวหน้าแผนกวิชากายวิภาคศาสตร์  เพื่อพิสูจน์ให้กระจ่างชัดอาจารย์สงกรานต์เป็นผู้เสนอแผนการทดลองยิงศพต่อคณะกรรมการฯและได้รับอนุญาตให้ทำการทดลองตามข้อเสนอ  นับเป็นการทดลองทางวิทยาศาสตร์การแพทย์เพื่อสนับสนุนงานทางนิติเวชวิทยาเป็นครั้งแรกในประเทศไทย (ปัจจุบันเครื่องมือที่ใช้ตรวจพระบรมศพยังคงถูกเก็บรักษาไว้ในพิพิธภัณฑ์ของภาควิชานิติเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล)

                จากผลงานดังกล่าวคณะแพทยศาสตร์และศิริราชพยาบาลเห็นความสำคัญของวิชานิติเวชวิทยาขึ้นมาบ้างจึงให้มีการสอบไล่วิชานี้ในปีการศึกษา 2489 แต่ไม่ได้นำคะแนนไปรวมในการสอบเพื่อปริญญาแพทยศาสตรบัณฑิต  ต่อมามีการสอนวิชานี้ให้กับนักเรียนแพทย์ชั้นปีที่ 4 ในภาคเรียนสุดท้ายเพิ่มเป็นสัปดาห์ละ 2 ชั่วโมงและมีการสอบไล่โดยนำคะแนนไปรวมกับวิชารังสีวิทยา  เมื่อมีการตั้งสาขาวิชานิติเวชวิทยาขึ้นมาในการสอบไล่ถือว่าวิชานี้เป็นวิชาย่อยหนึ่งเช่นเดียวกับจักษุวิทยาและรังสีวิทยาโดยถ้าสอบตกในวิชาย่อยเหล่านี้สองวิชามีผลเท่ากับตกวิชาใหญ่หนึ่งวิชา

                นอกจากนี้อาจารย์สงกรานต์ยังได้รับเชิญไปสอนในสถาบันการศึกษาอื่นด้วยโดยเริ่มไปสอนนักเรียนนายร้อยตำรวจในปี พ.ศ. 2493 โรงเรียนสืบสวนสอบสวนกรมตำรวจในปี พ.ศ. 2495 คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในปี พ.ศ. 2498 อบรมพนักงานอัยการและผู้ช่วยผู้พิพากษาในปี พ.ศ. 2499 คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในปี พ.ศ. 2500 และยังได้รับเชิญไปสอนที่สถาบันต่าง ๆ เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จนวาระสุดท้ายของชีวิต (เนื่องจากงานด้านนิติเวชวิทยามากขึ้นอาจารย์จึงเลิกสอนวิชาปาราสิตวิทยาในปี พ.ศ. 2494)

                เนื่องจากงานเกี่ยวข้องกับกฎหมายอาจารย์จึงไปสมัครเรียนกฎหมายที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จนได้ปริญญาธรรมศาสตร์บัณฑิตในปี พ.ศ. 2495  ปีเดียวกันนี้เองกรมตำรวจได้ก่อตั้งโรงพยาบาลตำรวจขึ้นอาจารย์จึงได้รับการแต่งตั้งให้เป็นที่ปรึกษาและผู้เชี่ยวชาญด้านนิติเวชวิทยา

                ขณะนั้นโรงพยาบาลที่รับผู้ป่วยคดีและศพเป็นประจำคือโรงพยาบาลกลาง  โรงพยาบาลศิริราชไม่รับผู้ป่วยคดีไว้รักษาพยาบาล  ผู้ป่วยที่ตายจึงไม่ใช่ศพคดีที่ต้องชันสูตรพลิกศพตามกฎหมาย  วันที่ 30 มกราคม พ.ศ. 2495 อาจารย์สงกรานต์จึงทำบันทึกถึงหัวหน้าแผนกพยาธิวิทยาเสนอให้โรงพยาบาลศิริราชรับศพที่มีคดี  วันที่ 16 มิถุนายน พ.ศ. 2495 นายแพทย์ชัชวาลย์ โอสถานนท์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลศิริราชในขณะนั้นจึงทำหนังสือถึงอธิบดีกรมตำรวจแจ้งว่าทางโรงพยาบาลยินดีช่วยเหลืองานชันสูตรพลิกศพ  ในระยะแรกพนักงานสอบสวนยังส่งศพไปชันสูตรที่โรงพยาบาลศิริราชเพียงเล็กน้อย  อาจารย์สงกรานต์จึงทำบันทึกขอความช่วยเหลือไปถึงผู้บังคับการโรงเรียนสืบสวนสอบสวนกรมตำรวจซึ่งอาจารย์ได้รับเชิญให้ไปสอนอยู่  จากนั้นมาโรงพยาบาลศิริราชก็ได้รับศพมาชันสูตรเพิ่มขึ้นทุกปี

                ต้นปี พ.ศ. 2496 แผนกวิชาพยาธิวิทยารับแพทย์ประจำบ้านสาขานิติเวชวิทยา 1 คน  ต่อมาวันที่ 15 ตุลาคม พ.ศ. 2496 คณะแพทยศาสตร์และศิริราชพยาบาลได้ออกระเบียบการรับชันสูตรผู้ป่วยคดีจึงนับได้ว่าเป็นการให้บริการด้านนิติเวชวิทยาโดยสมบูรณ์ 

                พ.ศ. 2499 อาจารย์ทำหนังสือถึงคณะกรรมการควบคุมการประกอบโรคศิลปะให้พิจารณางานด้านนิติเวชวิทยาเป็นแพทย์เฉพาะทางสาขาหนึ่ง  ต่อมา พ.ศ. 2500 คณะกรรมการควบคุมการประกอบโรคศิลปะมีมติให้นิติเวชวิทยาเป็นแพทย์เฉพาะทางสาขาหนึ่งและแต่งตั้งให้อาจารย์เป็นหนึ่งในอนุกรรมการฯสาขานิติเวชวิทยา

                เดิมนิติเวชวิทยาเป็นเพียงหนึ่งในห้าสาขาวิชาของแผนกวิชาพยาธิวิทยา (อีกสี่สาขาวิชาคือ พยาธิวิทยา บัคเตรีวิทยา ปาราสิตวิทยา และพยาธิวิทยาคลินิก) แต่เนื่องจากงานนิติเวชวิทยาเพิ่มขึ้นทุกปีและมีจำนวนอาจารย์เพิ่มขึ้น  วันที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2508 จึงได้รับการจัดตั้งเป็นแผนกวิชานิติเวชวิทยาแห่งแรกของไทย  โดยศาสตราจารย์นายแพทย์สงกรานต์รับตำแหน่งหัวหน้าแผนกวิชาคนแรกได้พัฒนางานในทุก ๆ ด้านรวมถึงจัดตั้งพิพิธภัณฑ์นิติเวชวิทยาอีกด้วย (ปัจจุบันคือพิพิธภัณฑ์นิติเวชศาสตร์ สงกรานต์ นิยมเสน)

พ.ศ. 2512 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เปลี่ยนชื่อ “มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์” เป็น “มหาวิทยาลัยมหิดล”  คณะแพทยศาสตร์และศิริราชพยาบาลจึงเปลี่ยนชื่อเป็น “คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล” และเปลี่ยนคำว่า “แผนกวิชา” เป็น “ภาควิชา” (ต่อมาวันที่ 19 พฤษภาคม พ.ศ. 2514 ภาควิชานิติเวชวิทยาได้เปลี่ยนชื่อเป็น “ภาควิชานิติเวชศาสตร์” เพื่อให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์การบัญญัติศัพท์ของราชบัณฑิตยสถานและใช้ชื่อนี้มาจนถึงปัจจุบัน)

ศาสตราจารย์นายแพทย์สงกรานต์ เสียชีวิตในปี พ.ศ. 2513  จากผลงานการบุกเบิกด้านนิติเวชศาสตร์ในประเทศไทยจึงสมควรได้รับการยกย่องเป็น “บิดาแห่งนิติเวชศาสตร์ของไทย (Father of forensic medicine in Thailand)

 

เอกสารอ้างอิง

                สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน โดยพระราชประสงค์ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เล่ม 9